มูลนิธิพุทธโฆษณ์
เป็นมูลนิธิของพุทธบริษัท ผู้ชัดเจนและมั่นคงในพุทธวจนเริ่มจากชาวพุทธกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสมาฟังธรรมบรรยายจาก “พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิผโล “ ที่เน้นเฉพาะการนำพุทธวจน(ธรรมและวินัยจากพุทธโอษฐ์ที่พระพุทธองค์ทรงยืนยันว่าทรงตรัสไว้ดีแล้วบริบูรณ์หมดจดทั้งเนื้อความและพยัญชนะ) มาใช้ในการถ่ายทอด บอกสอน ซึ่งเป็นรูปแบบการแสดงธรรมที่ตรงตามพุทธบัญญัติตามที่ได้ทรงรับสั่งไว้แก่พระอรหันต์จำนวน ๖๐ รูปแรก ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในการประกาศพระสัทธรรมและเป็นลักษณะเฉพาะที่ภิกษุในครั้งพุทธกาลใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
หลักพุทธวจนนี้ ได้เข้ามาตอบคำถามต่อความลังเลสงสัย ความพร่าเลือนสับสน ในหลักธรรมคำสอนหลักปฏิบัติต่างๆที่มีอยู่ในสังคมชาวพุทธ อันเป็นผลมาจากสาเหตุเดียวคือ “การไม่ใช้คำของพระพุทธเจ้าเป็นตัวตั้งต้นในการศึกษาเล่าเรียนด้วยศรัทธาอย่างไม่หวั่นไหวในความสามารถของพระพุทธองค์ ในฐานะพระศาสดาผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ”
พระอาจารย์คึกฤทธิ์ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า “อาตมาไม่มีคำสอนของตัวเอง” และท่านได้ใช้เวลาที่มีอยู่ไปกับการรับสนองพุทธประสงค์โดยการโฆษณาพุทธวจนให้เผยแผ่ออกไปสู่สาธารณ เพื่อให้เกิดการกลับมาใช้หลักพุทธวจนเหมือนเมื่อครั้งที่เคยเป็นในพุทธกาล สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความชัดเจน สอดคล้อง ลงตัวในความรู้ความเข้าใจ ไม่ว่าในแง่ของหลักธรรม ตลอดจนมรรควิธีที่ง่ายและสามารถนำไปใช้ปฏิบัติให้เกิดผล และสามารถประจักษ์ความจริงได้ด้วยตนเองทันที
ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธที่เห็นคุณค่าในคำของพระศาสดา จึงได้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น “กระแสพุทธวจน” ซึ่งเป็นพลังเงียบที่เรียกได้ว่ากำลังจะกลายเป็นคลื่นลูกใหม่สร้างมิติใหม่ ในการกลับไปใช้ระบบการเรียนรู้พระสัทธรรม เหมือนดังในครั้งพุทธกาลเพราะการขยายตัวของกระแสพุทธวจนนี้
สื่อเผยแผ่ธรรมที่เป็นพุทธวจน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ซีดีฯลฯ ซึ่งแจกฟรีให้แก่พุทธบริษัท เริ่มมีจำนวนไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ที่สนใจและเห็นความสำคัญของพุทธวจน ประกอบกับท่านพระอาจารย์คึกฤทธิ์เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติที่พระศาสดาบัญญัติไว้ การเผยแพร่พุทธวจนที่ผ่านมาจึงเป็นไปในลักษณะสันโดษ ตามมีตามได้เมื่อมีโยมมาปวารณาตัวขอเป็นเจ้าภาพในการจัดพิมพ์หนังสือ ซีดี ได้มาจำนวนเท่าไหร่ท่านก็ทยอยแจกไปตามที่มีเท่านั้น เมื่อมีมาอีก ก็แจกไปอีก เมื่อหมด ก็คือหมดเพราะท่านเห็นว่า หน้าที่ในการดำรงพระสัทธรรมให้ตั้งมั่นและสืบไปนั้น ไม่ได้ผูกจำกัดอยู่แต่เพียงเฉพาะพุทธบริษัทที่เป็นภิกษุเท่านั้น
ดังนั้นจึงเกิดการรวมตัวกันของฆราวาสเพื่อช่วยขยายผลในสิ่งที่พระอาจารย์คึกฤทธิ์ได้กระทำอยู่แล้วในเวลานั้น คือการนำพุทธวจน ซึ่งเป็นพระสัทธรรมที่องค์พระศาสดาได้ตรัสรู้มาเผยแพร่โฆษณาออกไปสู่สาธารณอย่างเป็นระบบโดยพิจารณาตัดสินใจจดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้การดำเนินการต่างๆทั้งหมด อยู่ในรูปแบบที่โปร่งใส เปิดเผยและเปิดกว้างต่อสาธารณะชนชาวพุทธทั่วไป
คำขวัญมูลนิธิฯ มูลนิธิพุทธโฆษณ์มูลนิธิของพุทธบริษัทผู้ชัดเจนและมั่นคงในพุทธวจน
1.วิสัยทัศน์ รวบรวม-เผยแผ่-ทรงไว้ซึ่งพุทธวจน, ธรรมวินัย จากพุทธโอษฐ์
2.พันธกิจ
- สร้างความเข้าใจความชัดเจนเกี่ยวกับพุทธวจนให้สังคมทั่วไปได้รับทราบอย่างถูกต้องและครบถ้วน
- สร้างความมั่นคงและสืบต่อพุทธวจนโดยการเผยแผ่ผ่านสื่อต่างๆ ที่เหมาะสม
- สนับสนุนการปฏิบัติตามแนวพุทธวจนโดยการสร้าง, ใช้สถานที่ และ/หรือบุคลากรที่มีอยู่เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างถูกต้อง
- จัดโครงการปฏิบัติธรรมตามแนวพุทธวจนให้เป็นที่แพร่หลายออกไปสู่สาธารณะ
- สร้างความเข้มแข็งและขยายเครือข่ายพุทธวจนสถาบัน
- ประสานความร่วมมือกับวัด หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการมีส่วนสนับสนุนและเผยแผ่พุทธวจนอย่างถูกต้อง
- นำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้แก่วัดนาป่าพงเพื่อนำไปใช้ในการเผยแผ่พุทธวจนต่อไป
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งมูลนิธิพุทธโฆษณ์
1.เพื่อเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าและทำประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนา
2.การ ดำเนินการและการทำทุกอย่างตามวัตถุประสงค์จะยึดถือตามแนวทางแห่งพระธรรมและ วินัย ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติจากพระโอษฐ์ของพระองค์เป็นหลัก
3.เพื่อดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆที่มีวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกันเพื่อสาธารณประโยชน์
4.ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
ทั้งนี้ไม่ดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการพนัน การหาผลกำไรมาแบ่งปันกันตลอดจนไม่ทำให้เสื่อมเสียศีลธรรม จารีตประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ